ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอย่างน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกันผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้หลายชนิดก็เข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว สิ่งที่ตามมาคือ การกระจายผลผลิตเหล่านั้นไปตามจังหวัดต่าง ๆ เกิดปัญหาการขนส่งไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ตลาดบางแห่งปิด หรือ ลูกค้าขาประจำของตลาดขาดหายไปจำนวนไม่น้อยเพราะมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ชาวสวนได้รับความเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน รวมทั้งชาวสวนลิ้นจี่ สมุทรสงคราม ซึ่งปีนี้ผลผลิตออกมาจำนวนมาก หลังจากที่ลิ้นจี่สมุทรสงครามไม่ให้ผลผลิตมา 2-3 ปี
ชาวสวนผลไม้หลายชนิด รวมทั้งชาวสวนลิ้นจี่ พยามยามดิ้นรนหาตลาดเพื่อขายผลผลิต รวมทั้งตลาดออนไลน์ ทั้งไลน์ และเฟสบุค รับคำสั่งซื้อจากผู้สนใจ จัดส่งสินค้าถึงบ้าน ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าให้บริการไม่ทัน จนต้องประกาศงดรับบริการขนส่งสินค้าที่เป็นผลไม้สดกันเลยทีเดียว
เห็นภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อม สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดสมุทรสงคราม ผลสีแดงสด เนื้อสีขาว ที่ชาวสวนโพสต์ขายทางเฟสบุคแล้ว ทำให้อยากไปชิมลิ้มรสถึงสวน แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้เพราะโควิด -19 เป็นเหตุ จึงหมายมั่นไว้ว่าปีหน้าถ้าลิ้นจี่ให้ผลผลิตอย่างปีนี้จะต้องไปเยี่ยมสวนให้ได้ ระหว่างนี้ หาข้อมูลลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ไปพลาง ๆ ก่อน
จากประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 รับขึ้นทะเบียนลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ของจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา ในนามของ “ลิ่นจี่ค่อมสมุทรสงคราม” โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับลิ้นจี่พันธุ์นี้ ดังนี้
ประวัติของลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม : จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เดิมเป็นแขวงหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ต่อมาในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรี จึงแยกออกมาเป็น “เมืองแม่กลอง” เพราะมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน และได้ชื่อว่าเมืองสามน้ำ (น้ำจากแม่น้ำแม่กลอง น้ำกร่อยบริเวณตอนกลาง และน้ำเค็มบริเวณปากอ่าว) เหมาะแก่การทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกลิ้นจี่พันธุ์ค่อมสมุทรสงครามที่มีรสหวาน อร่อย สีแดงสด ซึ่งผู้ที่นำมาปลูกคนแรกคือ นายติ มีแก้วกุญชร ชาวสวนตำบลแควน้อย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยนำเมล็ดมาจากตรอกจันทร์ ยานนาวา บางกอก เมื่อปี พ.ศ. 2397 เป็นลิ้นจี่ที่ให้ผลผลิตเร็วภายใน 3 ปี ผลดกเต็มต้นมีสีแดงสด รสหวานอร่อย เดิมเรียกพันธุ์ “อีค่อม” เพราะต้นไม่ค่อยสูง มีลักษณะเป็นพุ่ม ต่อมาตัดคำว่า “อี” ออก เพราะเห็นว่าไม่สุภาพ เหลือเพียง “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” หนึ่งในผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีคำขวัญของจังหวัดว่า “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม”
คำนิยาม ตามประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม หมายถึงลิ้นจี่พันธุ์ค่อม หรือ หอมลำเจียก มีกลิ่นหอมหวาน มีลักษณะหนามตั้ง หนังตึง เนื้อเต่ง ซึ่งปลูกในตำบลบางขันแตก อำเภอเมือง อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ลักษณะ มีลักษณะทางกายภาพ คือ
รูปทรงผล : รูปร่างกลม รูปไข่หรือรูปหัวใจ เมล็ดทรงยาว
เปลือก : มีหนามตั้ง หรือหนามแหลม ห่างเสมอกันทั้งผลและไม่เป็นกระจุก หนังตึงหรือเปลือกหนังบางตึง กรอบ เมื่ออยู่บนต้นมีสีแดงเข้ม เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะมีสีคล้ายนน้ำหมาก
เนื้อ : เนื้อเต่ง หรือมีเนื้อหนา กรอบ สีขาวอมชมพูเรื่อ ๆ เนื้อแห้ง ไม่แฉะ
รสชาติ : หวาน หวานอมฝาด กลิ่นหอม ค่าความหวานประมาณ 19.50 Brix
รู้จักลักษณะและเห็นรูป “ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม” แล้ว หลายคนคงอยากชิม แต่ปีนี้คงไม่ทันแล้ว เพราะหมดฤดูกาลไปแล้ว คงต้องอดใจรอไว้ปีหน้า 2564