เมื่อปีพ.ศ. 2523 นายสมหวัง มัสแหละ เกษตรกร ในชุมชนบ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำต้นพันธุ์ส้มโอพื้นเมืองที่เรียกกันว่า “ส้มสีชมพู” จากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีผลใหญ่ กุ้งสีชมพูเข้ม แต่มีรสขม มาทดลองปลูกในพื้นที่บ้านแสงวิมาน ปรากฏว่าผลผลิตส้มโอที่ได้มีรสชาติหวานแต่ยังมีรสขมอยู่บ้าง จึงตั้งชื่อใหม่ว่า “พันธุ์มรกต” เนื่องจากมีผิวสีเขียวเข้ม และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมคล้ายกำมะหยี่
หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดูแลรักษา จนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้นมาก กล่าวคือ มีเนื้อกุ้งสีชมพูเข้มคล้ายทับทิมจนถึงสีแดง ผลโต ผิวเปลือกสีเขียวสดนิ่มเหมือนกำมะหยี่ และรสชาติหวานหอม คนในหมู่บ้านจึงตกลงกันตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “พันธุ์ทับทิมสยาม”
จากการสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่แหล่งปลูกสำคัญของสัมโอพันธุ์ทับทิมสยามในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน ตำบลคลองน้อย ตำบลเกาะทวด และ ตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง เกษตรกรชาวสวนส้มปากพนังจึงได้ขอขี้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับส้มโอพันธุ์นี้โดยระบุว่าเป็น “ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง” ตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 โดยมีสาระสำคัญ ตามประกาศ ดังนี้
คำนิยาม : ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง (PAKPANANG TABTIMSIAM POMELO) หมายถึง ส้มโอทับทิมสยามที่มีรสชาติหวานนุ่ม สีของเนื้อสีชมพูเข้มคล้ายทับทิมจนถึงสีแดง ผิวผลนิ่มดังกำมะหยี่ ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ลักษณะทางกายภาพ : ผลส่วนบนมีจุก ก้นผลป้านเว้าเล็กน้อย ผลโตขนาดเส้นรอบวงประมาณ 18 – 25 เซนติเมตร เปลือกมีผิวเรียบ สีเขียวนวลอมเหลือง ต่อมน้ำมันละเอียด ผิวเปลือกค่อนข้างบางเป็นมัน มีขนเล็ก ๆ อ่อนนุ่มปกคลุมทั่วผล สัมผัสจะรู้สึกนุ่มมือคล้ายกำมะหยี่ เปลือกชั้นในบางมีสีชมพูอ่อน หนาประมาณ 0.8 – 1.0 เซนติเมตร เมื่อสุกเต็มที่บริเวณจุดกึ่งกลางผลจะมีสีน้ำตาลเข้มและขนบริเวณก้นผลจะหายไป
เนื้อสีชมพูเข้มคล้ายสีทับทิมจนถึงสีแดง เมล็ดมาก เรียงชิดแกนผล เนื้อกุ้งมีขนาดเล็กเบียดกันแน่น ไม่แตกง่าย ไม่แฉะน้ำ แห้ง หวานกรอบ รสชาติหวานหอม ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว และไม่ขมติดลิ้น
กระบวนการผลิต : ปลูกได้ทั้งที่ลุ่มที่ดอน โดยที่ลุ่มควรยกร่องปลูก ให้มีระยะห่างระหว่างต้นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ การขุดหลุมไม่ต้องให้ลึกมาก ผสมดินด้วยปุ๋ยรองก้นหลุมก่อนปลูก หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ การตัดแต่งกิ่ง เมื่อต้นส้มโออายุประมาณ 3 ปี ควรตัดแต่งกิ่งรักษาทรงพุ่มด้านข้าง และตัดส่วนยอดให้โปร่ง เพื่อให้แสงแดดเข้าถึงภายในทรงพุ่ม ทาแผลด้วยปูนแดง ปูนขาว หรือสีน้ำมัน ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันเชื้อรา ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ให้น้ำสม่ำเสมอ เมื่อออกดอกควรงดให้น้ำ ช่อดอกติดผลแล้วจึงให้น้ำทีละน้อยไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับปกติ
การเก็บเกี่ยว : ระยะเก็บผลผลิตที่เหมาะสม คือ หลังดอกบานประมาณ 8 – 9 เดือน สังเกตต่อมน้ำมันรอบจุดสีน้ำตาลที่ก้นผลจะห่าง สีเปลือกรอบจุดสีน้ำตาลเป็นสีเขียวนวล หลังเก็บเกี่ยวนำมาผึ่งไว้ 1 – 2 วัน รสชาติจะดีขึ้นและแกะเนื้อง่ายขึ้น วิธีการเก็บเกี่ยว ให้ใช้กรรไกรตัดก้านขั้วผล และมีถุงผ้ารองรับเพื่อป้องกันผลกระแทกพื้น นำผลใส่เข่งหรือตะกร้าสะอาด รวบรวมไว้ในที่ร่ม
การพิสูจน์แหล่งกำเนิด : ส้มโอทับทิมสยามปากพนังจะต้องปลูกในเขตพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชตามกระบวนการผลิตที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และกระบวนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบ คือมีการขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยามปากพนัง รวมทั้งต้องมีเอกสารกำกับเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้
ถ้าท่านต้องการลิ้มลองรสชาติส้มโอทับทิมสยาม GI ที่แท้จริง ต้องมั่นใจว่าเป็นส้มโอที่ปลูกอยู่ในพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เท่านั้น